วันพุธที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2553

ปรัชญาการเล่นหุ้น

มีผู้กล่าวไว้ว่า  การเล่นหุ้น เฉกเช่น การออกรบ  ต้องรู้เขารู้เรา รบร้อยครั้ง ชนะร้อยครั้ง  น่าจะเป็นเรื่องจริง เพราะการเล่นหุ้น ดีที่สุด ต้องไม่แพ้ หมายความว่า เล่นอย่างไรก็ได้ แต่ในที่สุด ต้องมีกำไร ตอนเลิกเล่นแล้ว

หุ้นเป็นสินค้า เสมือนธุรกิจ ที่เราต้องคอยดูแล เอาใจใส่ เหมือนขายของ คือ ซื้อมา แล้วขายไป  เหมือนความเป็นเจ้าของ หุ้นที่ซื้อ คือ ธุรกิจของเรา  เหมือนสิ่งมีชีวิต  คือ เคลื่อนไหวตลอดเวลา  มีขึ้น มีลง ไม่เคยอยู่นิ่ง ๆ  (หุ้นที่นิ่ง คือ หุ้นที่ไม่น่าสนใจเลย เพราะไม่รู้ จะลงทุน หรือเก็งกำไร ไปทำไม ในเมื่อไม่มีอาการอย่างหนึ่งอย่างใด ที่ทำให้เรารู้สึกว่า มันจะไปยังไง)

นักลงทุนที่ยิ่งใหญ่ เคยกล่าวไว้ว่า  การเล่นหุ้นให้มีประสิทธิภาพสูงสุดนั้น ต้องอาศัย องค์ความรู้เพียง 2 สิ่งเท่านั้นคือ
1.วิชาปรัชญา (Philosophy)
2.วิชาประวัติศาสตร์ (History)
ฟังดูแล้ว มันเหลือเชื่อนะ  อะไรกัน แล้วงบการเงิน  การดูค่าเฉลี่ย การดูปัจจัยพื้นฐาน อะไรต่อมิอะไรอีกล่ะ  หายไปไหน หรือไม่สำคัญ หรือไม่จำเป็น  ผลประกอบการของบริษัทล่ะ  จะไม่พิจารณาเลยหรือ  คำตอบคือ ดูเหมือนกัน แต่ไม่ใช่สิ่งสำคัญที่จะทำให้เล่นหุ้นแล้วได้กำไร

อ้าว  แล้ว 2 สิ่งนี้ ทำให้เล่นแล้วได้ตังอย่างไรล่ะ  ไม่เข้าใจ เลย 

วิชาปรัชญา ก็หมายถึง คนเล่นหุ้น ต้องเข้าใจในความรู้สึกนึกคิดของผู้เล่น คนอื่น ๆ ด้วย เพราะเขาเหล่านั้น มีส่วนสำคัญทำให้หุ้นขยับขึ้นหรือขยับลง เคลื่อนไหวอย่างรุนแรงหรือค่อย ๆ เขยื้อนไปในทิศทางหนึ่งทางใด  ผู้เล่น ก็ได้แก่  เจ้าของ(บางคน)  นักลงทุน นักเก็งกำไร สถาบันลงทุน นักลงทุนต่างประเทศ คนช่วยทำราคา (market maker)  คนต่าง ๆ  เหล่านี้ เราต้องรู้จักเค้าให้หมด  เพราะว่าคนเหล่านี้แหล่ะ ที่เป็นปัจจัยในการทำให้หุ้นขึ้นลง ตามสิ่งที่พวกนี้คิด  คนกลุ่มนี้ ต้องคิดก่อน ถึงลงมือทำ  การกระทำเป็นเครื่องชี้เจตนา ถ้าเรามองเจตนาคนเล่นออก  โอกาสชนะแล้วได้ตังมีสูงมาก

หุ้นยิ่งขึ้น ทำไมคนยิ่งอยากเล่น  คำตอบคือ หุ้นขึ้น เปรียบเสมือนเรานำกำลังพลออกรบไปตีเมืองอื่นเพื่อยึดมาเป็นของเรา  หุ้นยิ่งขึ้น แสดงว่าเราได้ขยายอาณาจักรออกไปเรื่อย ๆ  ได้เก็บเสบียง ทรัพย์สิน และข้าทาสบริวารทั้งหลาย มาเป็นของตัว  ราคาแนวต้าน ก็เปรียบเสมือนข้าศึกได้วางกำลังอย่างหนาแน่นบริเวณนั้น  จึงมีแรงปะทะมาก  เราก็ต้องใช้กำลังที่เหนือกว่า จึงจะเอาชัยได้  ตรงกันข้าม หากตีไม่แตก ก็จะโดนข้าศึกตีย้อนกลับมา ถอยร่นกลับที่ตั้ง ที่เราเรียกว่า แนวรับ เราก็จะเป็นฝ่ายเสียเปรียบทันที เหมือนหุ้นราคาหล่นอย่างรวดเร็ว เพราะแรงปะทะสู้ไม่ได้ หรือถอยมาตั้งหลักนั่นเอง

ถ้าหุ้นลงล่ะ ทำไม คนเก็งกำไรถึงไม่เล่น คำตอบก็คล้าย ๆ กันคือ เราโดนข้าศึกโจมตี ต้องถอยร่นกลับเข้าพื้นที่ของตน จนไม่มีที่ให้ถอย คือ ตกฟลอร์  ฟลอร์อีก  จนราคาเหลือ ไม่กี่สตางค์  แล้วทีนี้จะเหลืออะไรให้เล่น  หลังกระแทกฝาแล้ว  นั่นแหล่ะเสียเปรียบสุดสุด  จนกว่าจะไม่มีทางให้ถอย เราอยู่แนวรับสุดใจ  ก็เลยกลายเป็นได้เปรียบ เพราะมีแต่เสมอกับชนะ  เช่น ราคาเหลือต่ำสุดเท่าที่ตลาดฯ กำหนด กล่าวคือ ราคาเหลือ 0.01 บาท ไม่มีอะไรให้สูญเสีย มีแต่เสมอตัวกับกำไร เงื่อนไขมีอย่างเดียวคือ อย่าให้อาณาจักรล่มสลาย ก็แปลว่า หุ้นที่เราซื้อต้องไม่เจ๊ง ปิดกิจการ นั่นเอง  ถ้าเป็นเช่นนี้  โอกาสที่เราจะฟื้นตัว แล้วกลับมาล่าอาณานิคม ก็รออยู่เบื้องหน้า

จะเห็นว่า ปรัชญาการเล่นหุ้น มีส่วนสำคัญในการพิจารณาหุ้นว่า ควรเล่นหรือไม่ การใช้จิตวิทยา เข้ามาช่วยในการตัดสินใจซื้อขาย ถือว่า มีส่วนสำคัญยิ่ง ถ้าเราเข้าใจคนอื่นได้มากเท่าไหร่ เราก็ได้เปรียบคนอื่นได้มากเท่านั้น

ส่วนวิชาประวัติศาสตร์ ก็คือ ประวัติของหุ้นตัวนั้นนั่นแหล่ะ  มีที่มาอย่างไร  เคยทำมาหากินอะไร ใครเป็นเจ้าของ  เคยเล่นแบบไหน  จัดอยู่ในประเภทเก็งกำไรลักษณะไหน  ราคาเคยสูงสุด ต่ำสุด ที่ไหน  เมื่อไหร่  อะไรเป็นปัจจัยที่ราคาอยู่ ณ ปัจจุบันนี้   ความรู้ด้านประวัติเช่นนี้ มีส่วนช่วยในการตัดสินใจซื้อขายตามจังหวะและโอกาสได้ เพราะถ้าหุ้นตัวนี้ เคยเล่นแบบนี้ มีแนวโน้มสูง ในการเล่นแบบเดิม ซึ่งผู้เล่นหน้าเดิม จะรู้จักจังหวะ โอกาส ในการเข้าทำ เข้าตี และตีจากได้อย่างถูกต้องแม่นยำ

มีคำพูดว่า ผู้ชนะสิบทิศ คือ เจอหุ้นตัวไหน ก็สามาถเล่นจนเอาชนะได้ทุกตัว ถ้าเป็นแบบนี้ แสดงว่า ผู้เล่นต้องเป็นยอดฝีมือ  รู้จักหาจังหวะเข้า ออก ได้เงินตลอด  ซึ่งไม่ใช่ทุกคนจะทำได้ คงมีเพียง 2-3 คน จาก 100 คน  หากผู้อ่าน ไม่ได้จัดอยู่ในประเภทผู้ชนะสิบทิศ คงต้องหาทางหนีทีไล่ไว้ทุกครั้งที่ลงมือเล่นด้วย

หวังว่า คงลองนำข้อคิดนี้ไปใช้เพื่อการทำกำไร ควบคู่กันไป  การเล่นหุ้นเหมือนการออกรบ  ต้องรู้จักวางหมาก ล่อหลอก กลศึก สู้ยิบตา หรือถอยเพื่อตั้งรับ มีให้ครบทุกรูปแบบ เพราะหุ้นออกได้หลายหน้า  ไม่ซ้ำวิธีเดิม  ผู้รู้กลยุทธในการเทรดมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งได้เปรียบมากเท่านั้น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น