วันศุกร์ที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

กลยุทธการทำกำไรอย่างยั่งยืน

เมื่อนักลงทุนประสบความสำเร็จในการลงทุน คือ ซื้อหุ้น แล้วขาย และมีกำไรเกิดขึ้น  ประเด็นที่ต้องพิจารณาก็คือว่า มีโอกาสไหมที่การลงทุนในคราวต่อไป อาจเกิดผลขาดทุน ซึ่งอาจมีมากกว่าที่ได้กำไรไปแล้ว  กลับกลายเป็นว่า การลงทุนกลายเป็นขาดทุนในที่สุด

การป้องกันไม่ให้กำไรกลายเป็นขาดทุน มีแง่คิดง่าย ๆ  ดังนี้

1.เมื่อซื้อหุ้นตัวไหน แล้วมันราคาสูงขึ้น ทำให้มีกำไรส่วนต่างราคา แต่ยังไม่ได้ขาย  กำไรที่แท้จริง จะยังไม่เกิดขึ้น จนกว่านักลงทุนจะขายหุ้นตัวนั้น แล้วหักกลบลบต้นทุน จึงจะนำมาบันทึกหรือรับรู้กำไรที่เกิดขึ้นจริง ๆ   หลักการง่าย ๆ มีอยู่ว่า  อย่าปล่อยให้กำไร ลดลงมาจนกระทั่งเป็นขาดทุน เช่น ซื้อหุ้น PTT  ที่ราคา  330 บาท  หากราคาสูงขึ้นเป็น 335 บาท ยังไม่ขาย  สูงขึ้นเป็น 340 บาท ก็ยังไม่ขาย เช่นนี้ ไม่เป็นไร  แต่เมื่อเวลาผ่านไป ราคาหุ้น PTT  ปรับตัวลดลงจนมาถึงราคา  330 บาท ซึ่งถ้าขายจะขาดทุนค่าธรรมเนียม  ดังนั้น วิธีแก้ไขง่าย ๆ คือ เมื่อราคาหล่นลงมาเหลือ  333 บาท เป็นราคาเสนอซื้อเมื่อไหร่ ให้ทำการขายที่ 333 บาททันทีโดยไม่มีเงื่อนไข  เหตุผลคือ เราไม่รู้ว่าราคาหุ้นจะหล่นต่อ หรือขึ้นไปอีก เพื่อรักษาผลกำไรและป้องกันการขาดทุน จึงต้องขายหุ้นไปตามที่เรากำหนดไว้เมื่อหุ้นลง  ตรงกันข้าม ถ้าหุ้น PTT  ยังขึ้นไปอีกสูงกว่า 240 บาท เช่นนี้ นักลงทุนยังรอถือหุ้นไว้ได้ เพราะกำไรไม่สามารถทำให้นักลงทุนเสียเงิน  แต่ขาดทุนทำให้เงินทุนเสียหายได้

2.เมื่อนักลงทุนมีกำไรจากการลงทุน คิดเป็น  100%  จากเงินลงทุน  วิธีง่าย ๆ คือ แนะนำให้นำเงินทุนที่ลงทุนครั้งแรก คืนออกมาจากการลงทุน  ให้คงเหลือไว้เฉพาะกำไรส่วนเกิน หรือถอนเงินลงทุนพร้อมกำไรบางส่วนออกมาก็ได้  เหตุผลคือ เราไม่รู้หรอกว่า การลงทุนครั้งต่อ ๆ ไป เราจะสามารถทำกำไรได้อีก 100%  เช่นครั้งแรก  เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการสูญเสียเงินทุนไปในที่สุด  จึงควรเตรียมการป้องกันเงินทุนครั้งแรกไว้ ด้วยการนำเงินออกจากระบบการลงทุน  ถ้ามีข้อผิดพลาดเกิดขึ้น เราจะไม่สูญเสียเงินทุนเลยแม้แต่บาทเดียว เพราะเงินทุนเรานำกลับไปแล้วนั่นเอง

3.สร้างผลกำไรอย่างต่อเนื่อง กล่าวคือ  หากเงินทุนของเราสร้างกำไรทั้งส่วนต่างราคา หรือได้รับเงินปันผลที่คุ้มค่า  เราก็นำเงินส่วนเกินเหล่านั้น ไปลงทุนซ้ำเพื่อให้เกิดกระบวนการเงินสร้างเงินอย่างไม่ขาดเสีย โดยที่เราไม่ต้องนำเงินมาลงทุนเพิ่มอีก แม้ว่า การลงทุนจะมีผลขาดทุนบ้าง กำไรบ้าง สลับกันไป  เราก็ไม่มีผลกระทบต่อเงินทุนเพราะมันคือกำไรล้วน ๆ ที่มาลงทุน  อย่างเลวร้ายที่สุดก็คือ เราไม่เหลือเงินทุนในส่วนที่เป็นกำไรเลย นั่นก็แปลว่า เราทำงานเหนื่อยฟรี  แต่ไม่เสียเงินลงทุน ซึ่งก็น่าจะพอรับได้ในแง่ของการลงทุนบนพื้นฐานความเสี่ยงตามกลไกตลาดเสรี

หลักคิดลักษณะนี้ นักลงทุนลองนำไปใช้ดูได้ หากได้ผลดี ก็ควรทำอย่างต่อเนื่องต่อไป  หากยังเกิดผลเสียหาย ก็ควรจะหาวิธีจำกัดผลเสียเอาไว้ด้วย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น